วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ตัวเชื่อมต่อต่างๆ

ตัวเชื่อมต่อต่างๆ
       ในการประกอบชุดอุปกรณ์ตกปลา ตัวช่วยหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างมากก็คือ อุปกรณ์ช่วยในการเชื่อมต่อ ที่ได้แก่ ลูกหมุน และกิ๊บ
       ลูกหมุนและกิ๊บ ในปัจจุบันนี้ก็ได้รับการพัฒนาให้มีรูปทรงที่หลากหลาย เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของนักตกปลา ดังเช่นในภาพที่เห็น แถวแรกจะเป็นลูกหมุนเปล่าๆ แถวสองก็จะเป็นกิ๊บเปล่าๆ และแถวสามก็เป็นลูกหมุน+กิ๊บ ที่มาเป็นชุด
       ประโยชน์ของลูกหมุนและกิ๊บก็คือ ช่วยให้เกิดความสะดวกในการเชื่อมต่อระหว่างสายเบ็ดหลักเข้ากับสายพ่วงอื่นๆ ส่วนประโยชน์พิเศษเฉพาะของลูกหมุนก็คือ เป็นตัวช่วยลดอาการตีเกลียวของสายเบ็ดหลักที่เกิดจากการควงตัวของเหยื่อที่ปลายสาย       
        ลูกหมุนและกิ๊บที่ดี ต้องมีความแข็งแรงที่พอเพียงต่อเกมส์ตกปลาที่เราคาดหวัง ลูกหมุนควรมีความลื่นเพียงพอที่จะรับการควงตัวของเหยื่อ และกิ๊บก็ควรจะมีความสะดวกในการล็อค และปลดล็อค เพื่อเป็นการง่ายและใช้เวลาน้อยในการเปลี่ยนเหยื่อ
        อุปกรณ์เชื่อมต่ออีกอย่างหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมสำหรับเกมส์ที่ต้องรับภาระแรงดึงหนักๆก็คือ ห่วงตัน หรือที่เรียกว่า โซลิด ริงก์ และ ห่วงสปริง หรือที่เรียกว่า สปริท ริงก์
       คุณสมบัติพิเศษของห่วงตัน ก็คือรับ-ถ่ายแรงดึงได้สูงกว่าตัวเชื่อมต่อประเภทลูกหมุน โดยมากจะต่อเข้ากับสายเบ็ดหลัก
       ส่วนห่วงสปริง ก็มีขนาดให้เลือกที่หลากหลาย หากจะให้ดี ควรเลือกใช้ห่วงสปริงสำหรับงานตกปลา เพราะจะมีการแจ้งความทนแรงดึงไว้ที่เอกสารกำกับสินค้า ว่ามีความทนแรงดึงเท่าไหร่ เพื่อที่นักตกปลาจะได้เลือกใช้ถูก   งๆ

      

วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ตัวเบ็ด

         ตัวเบ็ดนี่เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆของการตกปลาเลยก็ว่าได้ เกือบทุกวิธีของการตกปลาต้องมีตัวเบ็ดเป็นอุปกรณ์หลักส่วนหนึ่ง ดังนั้นผมจึงอยากแนะนำให้พวกเราได้รู้จักกับตัวเบ็ดไว้บ้าง
       ตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์รู้จักคิดค้นนำเอากระดูกสัตว์หรือเขาสัตว์มาทำเป็นตัวเบ็ด ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าแม้ว่าจะผ่านยุคสมัยมาเท่าไหร่ องค์ประกอบของตัวเบ็ดมีความเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จะมีที่เปลี่ยนไปบ้างก็ได้แก่รูปทรง วัสดุ และกรรมวิธีการสร้างทำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นไปเพื่อการใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับปลาที่เราต้องการจะตก
       กายวิภาคของตัวเบ็ดแยกส่วนออกมาง่ายๆเป็น 6 ส่วนดังต่อไปนี้
  1. ตาเบ็ด หรือบางทีก็เรียก ตูดเบ็ด โดยมากมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ แบบตูดห่วง กับแบบตูดแบน
  2. ก้านเบ็ด มีขนาดยาว-สั้นแตกต่างกันไปตามแต่การใช้งาน ก้านยาวอำนาจทะลุทะลวงต่ำ แต่ป้องกันคมเขี้ยวของปลาได้ระดับหนึ่ง
  3. ความกว้างของตัวเบ็ด มีลักษณะแตกต่างไปตามแต่วัตถุประสงค์การใช้ ยิ่งกว้างมากความสามารถในการทะลุทะลวงจะลดต่ำลง แต่ลดโอกาสฉีกขาดของแผลได้ดีกว่า
  4. คมเบ็ด หรือเกสรเบ็ด ยิ่งบางยิ่งคมอำนาจทะลุทะลวงยิ่งสูง แต่ความแข็งแรงก็จะต่ำลง โดยเฉพาะเมื่อแทงโดนส่วนแข็งเช่นกระดูกส่วนปาก มีเบ็ดบางแบบถูกออกแบบมาให้เกสรเบ็ดเบี่ยงออกจากก้านเบ็ด เพื่อเพิ่มโอกาสแทงทะลุให้กับคมเบ็ด
  5. เงี่ยงเบ็ด มีเพื่อป้องกันการถอยหลุดของตัวเบ็ด แต่เงี่ยงเบ็ดนี้หากกว้างมาก อำนาจการทะลุทะลวงก็จะต่ำลง และเพื่อการปลดปลาปล่อยที่ง่ายขึ้น จึงได้มีการผลิตตัวเบ็ดแบบไม่มีเงี่ยงขึ้น ซึ่งตัวเบ็ดประเภทนี้ นักตกปลาเพียงรักษาความตึงของสายได้ตลอดช่วงการสู้ปลา เรื่องปัญหาก่อถอยหลุดของตัวเบ็ดก็จะลดลงไปได้มาก
  6. ท้องเบ็ด เป็นจุดคล้องปลา จะทำงานทันทีที่เกสรเบ็ดได้แทงทะลุผ่านแล้ว บางแบบอาจมีการทับแบนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของตัวเบ็ด
       ประเภทของตัวเบ็ดอย่างคร่าวๆ
       เบ็ดแบบตัวเจ เบ็ดแบบนี้มีรูปทรงคล้ายอักษรเจในภาษาอังกฤษ เป็นเบ็ดที่พบเห็นได้ทั่วไป แยกย่อยออกเป็นก้านสั้น-ก้านยาว, ตูดห่วง-ตูดแบน, หน้าบิด-หน้าไม่บิด, หลังมีเงี่ยง ฯลฯ แทบจะเรียกได้ว่ามีแบบให้เลือกใช้มากที่สุดในตลาด


       เบ็ดท้องกว้าง เบ็ดแบบนี้มีลักษณะการใช้งานเกือบจะเฉพาะด้าน เช่น เบ็ดตกกุ้ง แต่โดยประสบการณ์ผม ผมเคยนำไปใช้เกี่ยวกุ้งเป็นตกปลาม้าในแม่น้ำบางปะกงอยู่เหมือนกัน



       เบ็ดเซอร์เคิ่ล เบ็ดแบบนี้มีคุณสมบัติพิเศษตรงที่เป็นเบ็ดที่ไม่ตวัดแล้วปลาจะติด แต่หากตวัดสวนปลาจะไม่ติดเบ็ด จึงเหมาะกับการใช้ตกปลาน้ำลึก สายเบ็ดหย่อนท้องช้างยากแก่การตวัดเบ็ด ลักษณะการใช้งานคือเมื่อปลาลากสายแล้ว ให้โหนคันรั้งสายให้ตึง แค่นั้นปลาก็จะติดเบ็ดแล้ว โดยมากเบ็ดแบบนี้มักจะเข้าฝังที่ขอบปาก (อันนี้ พี่ติ่ง แสมสาร บอกมา)





       เบ็ดสองทาง, เบ็ดสามทาง เบ็ดแบบนี้โดยมากถูกออกแบบมาให้ใช้กับเหยื่อปลอม เพื่อเพิ่มโอกาสการติดเบ็ดของปลา มีบางครั้งที่เรานำไปใช้กับเหยื่อไม่ปลอมบ้าง เช่นใช้กับเหยื่อสด หรือเหยื่อเป็น
       แต่ข้อจำกัดของเบ็ดพวกนี้คือ เมื่อมีโอกาสติดปลามาก โอกาสติดสวะหรือสาหร่ายก็มากเช่นเดียวกัน นักตกปลาจึงมีการคิดค้นทำการ์ดกันสวะกันมาหลากหลายรูปแบบ หากมีโอกาสจะนำวิธีการทำการ์ดเหล่านี้มาเสนอให้พวกเราได้รู้กัน




       เบ็ดเกี่ยวเหยื่อหนอนยาง เบ็ดแบบนี้ที่ก้านจะมีแนวหยักพิเศษ เพื่อให้ส่วนนี้เป็นตัวกั้นไม่ให้เหยื่อหนอนยางไหลรูดลงไปกองที่ท้องเบ็ด




       นอกจากนี้ หลักการเลือกใช้ตัวเบ็ด นักตกปลาควรพิจารณาความทนต่อสนิม แน่นอนว่าเบ็ดที่ทำจากแสตนเลสย่อมทนต่อสนิมได้ดีกว่าเบ็ดที่ทำจากเหล็ก แต่เบ็ดที่ทำจากเหล็กมีความคมสูงกว่าเบ็ดที่ทำจากแสตนเลส และเบ็ดที่ทำจากเหล็กที่ผ่านกรรมวิธีชุบที่ดี ก็สามารถทนต่อสนิมได้ดีในระดับหนึ่งเช่นกัน
       กรรมวิธีการชุบแข็งตัวเบ็ด วัสดุแต่ละอย่างมีขั้นตอนการสำเร็จชิ้นงานที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นกรรมวิธีการเสริมความแข็งโดยการทับแบนในเบ็ดแสตนเลส หรือจะเป็นการชุบแข็งเสริมธาตุคาร์บอนในเบ็ดไฮ-คาร์บอน ทั้งหลายทั้งปวงนี้ก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ให้ตัวเบ็ดนั้นมีความแข็งแรงพอที่จะต้านแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างการตกปลา 
       ตัวเบ็ดยี่ห้อที่ดีจึงควรมีค่าเฉลี่ยความแข็งแรงของตัวเบ็ดที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้เพื่อเป็นความมั่นใจให้กับนักตกปลาว่าตัวเบ็ดที่กำลังใช้อยู่ตอนนี้จะไม่เหยียดง้างเมื่อเจอกับเกมส์หนัก หรือไม่แกร่งเกินจนหักเมื่อต้องทนกับแรงเครียดในเกมส์ยาวๆ

การรักษาคันเบ็ด


ความประมาทเป็นต้นเหตุของความเสียหาย คำนี้เป็นคติที่ผมจำขึ้นใจ และผมก็ใช้คตินี้กับทุกกิจกรรมที่ผมทำในกิจวัตร และแน่นอนว่าแม้แต่เรื่องของการตกปลาก็ไม่ได้เว้นข้อนี้
 
       ภาพแรกนี้ก็เป็นภาพอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นกับคันเบ็ดของเราภายในบ้าน คันเบ็ดตกปลาของพวกเรานั้นโดยมากก็เป็นคันเบ็ดที่ยาว และไอ้เจ้าความยาวนี่แหละที่เมื่อเรากวาดคันเบ็ดไปมาในบ้านอย่างไม่ระวังแล้ว โอกาสที่คันเบ็ดจะไปฟาดโดนนั้นโดนนี่ภายในบ้านเราก็มีมาก ในรูปแสดงแค่เพียงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคันเบ็ดอย่างทันท่วงที แต่ในความเป็นจริง คันเบ็ดนั้นอาจจะยังไม่หักเลยเดี๋ยวนั้น แต่อาจจะไปหักเอาตอนใช้งาน ซึ่งบ้างทีก็อาจจะทำให้เสียโทรฟีหนึ่งเดียวในชีวิตของเราก็เป็นได้ อีกอย่างถึงแม้ความเสียหายจะไม่ได้เกิดขึ้นที่คันเบ็ด แต่การที่คันเบ็ดไปเขี่ยโดนของตกหกร่วง หากแตกหักไปก็เป็นความเสียหายอีกเหมือนกัน

       ชุดภาพต่อมา เป็นชุดภาพของอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตกปลา "เหวี่ยง วัด อัด เย่อ" ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบทใดก็ตาม หากใช้คันเบ็ดไม่ถูกวิธี โอกาสที่ความเสียหายจะเกิดขึ้นแก่คันเบ็ดล้วนแล้วแต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น
       อย่างในภาพนี้ ทางด้านขวาของภาพ เป็นภาพในขณะที่เหวี่ยงเหยื่อ หากเราไม่ระมัดระวังให้ดี ตัวเบ็ดของเราอาจไปเกี่ยวเข้ากับอุปสรรคแล้วด้วยแรงหวดสุดแรงก็อาจทำให้คันเบ็ดหักสะบั้นลงได้ หรือในอีกมุมหนึ่ง หากที่ตัวเบ็ดไปเกี่ยวเข้าเป็นเพื่อนร่วมทริปหรือเป็นนายท้ายคู่ใจแล้วล่ะก็ ความเสียหายอาจจะมากกว่าแค่คันเบ็ดหักนะครับ
       ต่อมาทางด้านซ้ายของภาพ การยกคันเบ็ดทำมุมชันมากเกิน โอกาสที่คันเบ็ดหักก็จะมีสูงมาก โดยปกติ ตำราว่าไว้ว่าคันเบ็ดไม่ควรทำมุมงัดเกิน 70 องศา หากเกินไปกว่านั้น คันเบ็ดนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะหักสูงขึ้น

       ภาพต่อมาเป็นภาพการอัดปลา ในภาพแสดงถึงการตกปลาจากบนเรือ แต่จังหวะแบบนี้เราพบเห็นได้บ่อยตอนที่ตกปลาบึกที่บึงสำราญ ในจังหวะที่ปลามุดเข้าใต้สะพาน หากนักตกปลาตั้งใจสู้กับปลาด้วยวิธี "งัด" จากมุมสูง นั้นเท่ากับว่าคุณกำลังยัดเยียดความเสียหายให้กับคันเบ็ดของคุณอยู่ ทางที่ดีนักตกปลาควรจะลดคันลงตามปลา หรือถ้าหากจำเป็น ต้องจุ่มคันเบ็ดลงน้ำอย่างในรูปนี้ก็ต้องทำ
       ภาพต่อมาเป็นภาพการใช้คันเบ็ดในจังหวะปิดเกมส์ ในภาพจะเห็นได้ว่า นักตกปลาที่อยู่ทางด้านบนของภาพ ได้งัดปลาในเข้ามาสยบแทบเท้า แต่นักตกปลาที่อยู่ทางด้านล้าง เค้าปิดเกมส์ด้วยการสาวสายจูงปลาให้เข้าใกล้ ซึ่งวิธีนี้เราอาจไม่ค่อยได้เห็นนัก สำหรับบ้านเราที่ผมเห็นวิธีปิดเกมส์ที่ผมชอบที่สุดก็คือ "ใส่เกียร์ถอยหลัง" เราจะเห็นบ่อยๆตามบ่อตกปลาที่พอเมื่อปลาหมดแรงแล้วและพร้อมจะปิดเกมส์ เราจะเห็นนักตกปลาลดมุมคันเบ็ดลง แลวเดินถอยหลังจูงปลาเข้าถุงสวิง หรือจูงขึ้นตลิ่งก็สุดแต่สภาพจะอำนวย ซึ่งนี้เป็นวิธีที่ถูกต้อง เพราะการลดปลาคันลงต่ำ นั้นเท่ากับเป็นการลดโอกาสเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับคันด้วย
       นักตกปลาต้องไม่ลืมว่า คันเบ็ดทำจากวัสดุที่สื่อกระแสไฟฟ้า แล้วกิจกรรมของเราก็อยู่ใกล้น้ำ ดังนั้นสิ่งที่นักตกปลาควรระวังก็คือ เรื่องของไฟฟ้าทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้ารั่ว หรือตกปลาใกล้สายไฟฟ้าแรงสูงจนเกินไป ก็ล้วนแต่เป็นอันตรายทั้งสิ้น 



       และสุดท้ายนี้ คันเบ็ดก็ควรได้รับการดูแลและทำความสะอาดบ้าง แต่การทำควรสะอาดคันเบ็ดไม่มีความจำเป็นจะต้องไปใช้น้ำยาอะไรวิเศษวิโสมากมาย แค่น้ำผสมสบู่จางๆ จุ่มผ้าขนหนูนุ่มๆบิดหมาดๆ เช็ดให้ทั่วคันเบ็ด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามซอกขาไกด์ และบริเวณรีลซีท(แหวนรัดขารอก) หากมีเศษเหยื่อเกาะติดก็ให้ใช้แปรงสีฟันเก่าปัดเบาๆก็เพียงพอแล้ว อย่างในรูปนี้ ชี้ชัดเลยว่า การทำความสะอาดคันเบ็ดไม่ต้องการน้ำยาอะไรเลย และก็ไม่ควรจะใช้แปรงแข็งมาขัดถูด้วยความรุนแรงด้วย

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

การปรับเเต่งรอกตกปลา

       หลังจากที่เราถอดประกอบเป็นแล้ว เราก็จะเห็นจุดนี้อยากทำจุดนั้นอยากเปลี่ยน ตรงนี้ตรงนั้นน่าจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ หรือถ้าใส่ไอ้นี้เข้าไปแล้วมันจะดูสวยขึ้น ทั้งหลายเหล่านี้เราเรียกว่า การปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มสมรรถภาพการทำงาน หรือภาษาฝรั่งเรียกว่า จูนนิ่ง (Tuning) ซึ่งในการปรับแต่งนี้ ก็จะมีวิธีใหญ่ๆ 3 วิธี คือ
       วิธีแรก เปลี่ยนให้ดีขึ้น ง่ายมากครับ ซื้อชิ้นใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่ามาเปลี่ยนแทนที่ของเดิม ซึ่งก็เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์หลักๆ 2 อย่าง คือ เพิ่มสมรรถนะของรอก กับเพื่อความสวยงาม ที่เรียกว่า ถึงจะยังตกไม่ได้ปลาแต่ก็เท่ห์ไว้ก่อน เช่น เปลี่ยนจากบุ๊ชไปเป็นลูกปืนตลับ เปลี่ยนจากลูกปืนธรรมดา ไปใช้ลูกปืนกันสนิม หรือเปลี่ยนจากมือหมุนเดิมที่หนัก ไปใช้มือหมุนคาร์บอนเคฟล่าที่เบากว่า ส่วนในเรื่องของความสวยงามนี้ ก็ต้องว่ากันไปตามรสนิยมแหละครับ

เพิ่มคำอธิบายภาพ
       วิธีต่อไป ขัดให้ลื่น อันนี้ วิธีนี้ ถือเป็นงานขั้นละเอียดครับ การขัดลื่นนี่คือจุดไหนที่ชิ้นส่วนมีการสัมผัสกัน และมีการเคลื่อนไหว หรือในจุดที่เราหล่อลื่นด้วยน้ำมันในตอนล้างรอก จุดนันแหละที่จะทำการขัดลื่น การขัดลื่นนี่ จะทำกันด้วยกระดาษทรายเบอร์ละเอียด หรือใช้กากเพชรจุ่มสำลีขัดตามซอกตามรู ข้อสำคัญของวิธีการนี้ คือต้องไม่ขัดเพลินจนเกินไป เพราะจะทำให้การขัดลื่นกลายเป็นการขัดหลวมไป



      วิธีสุดท้ายที่จะบอกเล่าที่ตรงนี้ คือ เจาะให้เบา วิธีนี้ต้องใช้เทคนิคเชิงช่างอย่างมาก ต้องมีความรู้ในการใช้เครื่องมือ และเครื่องมือนั้นต้องมีความแม่นยำสูง การเจาะให้เบานี้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมากคือ วัตถุเมื่อถูกตัดเจาะก็ย่อมจะสูญเสียความแข็งแรงลงไป ดังนั้นการเจาะต้องเจาะในทิศทางที่ไม่มีแรงอื่นๆกระทำ







      

แต่ท้ายสุด หากเราอยากได้รอกที่แต่งมาแล้ว ก็มีรอกที่แต่งเสร็จมาจากสำนักแต่งดังๆหลาย    สำนัก เช่นที่รู้จักกันดีก็มี Ito Engineering ค่าย   Megabass เป็นต้น

       เอาเท่านี้ก่อนนะครับ สำหรับการบำรุงรักษารอกตกปลา รวมถึงการปรุงแต่งรอกให้มีสมรรถนะสูงขึ้นและสวยงามขึ้นด้วย

การบำรุงรักษารอกเบท คาสติ้ง{ล้างรอก}


         มาดูกันที่การล้างรอก เบท คาสติ้ง หรือ รอกขวาง กันบ้าง ในคราวนี้จะนำเอารอก EMILEY รุ่น EM-300 มาเป็นตัวอย่างเพื่อเป็นแนวทาง





       เมื่อคลายสกรูยึดส่วนประกอบกับเฟรมออกจากฝาทั้ง 2 ข้าง จะได้ส่วนประกอบแยกออกเป็นส่วนใหญ่ๆได้ 4 ส่วน คือ ฝาข้างมือหมุน, เฟรม, สปูล, ฝาด้านตรงข้ามมือหมุน




       เลือกทำความสะอาดในส่วนของเฟรมก่อน คลายเกลียวฝาครอบแกนหางปลาพาตัวเกลี่ยสาย ออกแล้วเขย่าเบาๆให้แกนหางปลาโผล่ออกมา (ระวังหล่นหาย) แล้วใช้คีมดึงออก
       ใช้ไขควงแบนดันเอาแหวนเกือกม้าล็อคแกนเฟืองสะพานตัวเกลี่ยสายออก



       ดึงเอาเฟืองสะพานตัวเกลี่ยออก ดันท่อครอบเฟืองสะพานออกด้านตรงข้าม เอาตัวเกลี่ยสายออก แล้วเขี่ยเอาบุ๊ชรองแกนตัวเกลี่ยที่อยู่ติดกับเฟรมด้านตรงข้ามมือหมุนออก ทำความสะอาดด้วยน้ำมันไฟแช็ค ผึ่งแห้ง แล้วประกอบกลับเข้าตามเดิม





       ส่วนฝาด้านตรงข้ามมือหมุน คลายน็อตยึดชุดรับแกนสปูลออก





       ถอนลูกปืนหล่อลื่นแกนสปูลออกจากชุดรับแกนสปูล ถอดแยกชิ้นชุดรับแกนสปูลออกจากฝา คลายเกลียวปุ่มปรับหน่วงออกช้าๆ(ระวังสปริงกระเด็นหาย) ทำความสะอาดด้วยน้ำมันไฟแช็ค ผึ่งแห้ง แล้วประกอบกลับเข้าตามเดิม





       ในส่วนของฝาด้านมือหมุน เริ่มต้นจากการถอดมือหมุนออกก่อน ถอดสกรูล็อคแผ่นกันคลายตัวยึดมือหมุนออก แล้วใช้ประแจเบอร์ 10 คลายเกลียวตัวยึดมือหมุน




       ใช้ไขควงดันแหวนเกือกม้าล็อคหัวแกนมือหมุนออก ถอดสปริงแผ่นรองใต้มือหมุน คลายเกลียวกงล้อปรับแดรกออกจากแกน ถอดแหวนสปริงออก





       คลายสกรูยึดฝาห้องเฟืองออก เปิดฝาห้องขับ จะเห็นเฟืองกับชุดยกฟรีสปูลอยู่บนแผ่นเซ็ทติ้งเพลท






       ถอดลูกปืนกันกลับออกจากฝา ล้างด้วยน้ำมันไฟแช็คผึ่งแห้ง แล้วประกอบกลับตามเดิม




       ถอนสปริงกดชุดยกฟรีสปูลออกทั้ง 2 ข้าง ดึงคานยกเฟืองพาสปูลขึ้น แยกเฟืองออกจากคาน แล้วดึงแกนมือหมุนขึ้นจากหลักบนเซ็ทเพลทออก




       แยกส่วนประกอบแกนมือหมุนออก มี ตัวเตะชุดยกฟรีสปูล เฟืองขับตัวเกลี่ยสาย แหวนสปริงดันแดรกล่าง จานกดแดรกล่าง แผ่นเบรกล่าง เฟืองขับ แผ่นเบรกบน จานกดแดรกบน แหวนสปริงดันแดรกบน นำชิ้นส่วนล้างน้ำมันไฟแช็ค ผึ่งแห้ง แล้วประกอบกลับ



       ในส่วนของสปูลเราแค่เช็ดแกนสปูลให้สะอาด
       การหล่อลื่น ยังคงใช้หลักการเดิม คือใช้จารบีในจุดสัมผัสที่มีแรงกด เช่น เฟือง และใช้น้ำมันใจจุดที่มีการเคลื่อนไหว เช่น แกนมือหมุนกับหลักบนเซ็ทเพลท เป็นต้น ข้อสำคัญเราต้องไม่ใส่สารหล่อลื่นนี้มากจนเกินไป เพราะสารหล่อลื่นจะกลายเป็นตัวเก็บเอาเม็ดฝุ่นลงไปบดกับเนื้อชิ้นส่วนเกิดเป็นความเสียหายได้
       นำชิ้นส่วนทั้ง 4 ประกอบกลับเข้าด้วยกัน ยึดสกรูฝาให้พอตึงมือ เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการล้างรอกเบทฯ


การบำรุงรักษารอกสปินนิ่ง{ล้างรอก}

นักตกปลาที่เอาใจใส่กับความพร้อมใช้ของอุปกรณ์ตกปลาควรมีการตรวจเช็คสภาพอุปกรณ์ตกปลาแบบจริงๆจังๆอย่างน้อย ปีละ 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับโอกาสใช้งาน เช่นใช้มากก็ควรมีการตรวจดูที่ถี่ขึ้น และรอกตกปลา ก็เป็นอุปกรณ์หนึ่งที่มีกลไกขับเคลื่อน และต้องการการหล่อลื่นตามอายุใช้งานเช่นเดียวกันกับเครื่องไม้เครื่องมือที่มีกลไกอื่นๆ
       *ข้อมูลต่อไปนี้ เป็นวิธีการที่ต้องใช้ทักษะเชิงช่างระดับหนึ่ง หากไม่มั่นใจ ไม่ควรทำเอง
       การทำความสะอาดกลไกภายในรอก และการหล่อลื่น ภาษาทั่วไปมักจะเรียกว่า การ “ล้างรอก” ในที่นี้ ก็จะแนะนำพื้นฐานวิธีล้างรอก 2 ชนิด ที่เป็นที่นิยมสูงสุด ซึ่งก็คือ รอกสปินนิ่ง และรอกเบท คาสติ้ง

       ในบทนี้ขอนำเอารอกสปินนิ่งของ Daiwa รุ่น SWEEPFIRE 1000B มาเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นแนวทางเทียบเคียงการล้างรอกสปินนิ่งรุ่นอื่นๆต่อไป
       ก่อนอื่น การล้างรอกแบบรื้อออกมาแล้วประกอบใหม่นี้ ในกรณีของรอกสปินนิ่ง ชุดชิ้นส่วนที่แยกออกมาได้ในเบื้องต้น จะมี 3 ส่วน คือ สปูล, ชุดแขนกว้านสาย, และตัวเรือนที่มีห้องเฟือง เราจะเริ่มต้นใน
จุดที่มีกลไกมากที่สุดของรอกก่อนคือ ตัวเรือนห้องเฟือง



       การจะเปิดห้องเฟืองของรอกสปินนิ่ง เราต้องถอดแขนหมุน ก่อน โดยการคลายเกลียวล็อคแขนหมุนออก แล้วถอดแขนออก





       แล้วแยกสปูลออกจากตัวบอดี้คลายเกลียวปรับแดรกออกจนสุด แล้วดึงสปูลออกตรงๆ






       จากนั้น ถอนเฟืองกรีดเสียง ที่อยู่ใต้สปูลออก แล้วคลายสกรูยึดชุดแขนกว้านสาย (ที่ลูกศรชี้)





       เมื่อแยกแขนกว้านสายออกจากตัวเรือน เราจะเห็นลูกปืนแกนแขนกว้านสาย ให้คลายสกรูยึดลูกปืน และสกรูยึดตัวกันกลับ ให้ปลดสปริง(ที่ลูกศรชี้)ออกจากร่องล็อคก่อน






       ขยับชุดแขนกั้นกันกลับออก ระวังสปริงกระเด็นหาย แล้วดึงชุดแกนแขนกว้านสายออกพร้อมลูกปืน





       คลายสกรูยึดกรอบท้ายรอก






       คลายสกรูยึดห้องเฟืองทั้ง 3 ตัวออก






       ใช้คีมดึงเอาสปริงรูปตัววีดันคานโยกกันถอยออกจากร่อง (ที่ลูกศรชี้) แล้วถอนแกนผลักขากันถอยออกจากด้านหน้าของรอก ชิ้นส่วนทั้งหมดก็จะแยกออกจากกัน






       ใช้ปลายเข็ม ถ่างแหวนสปริงรูป 6 เหลี่ยม แล้วถอดออกจากแกนมือหมุน(ที่ลูกศรชี้)




       ดึงเฟืองขับที่ติดกับแกนมือหมุนขึ้น ถอนแกนคันชักสปูลออก แล้วก็ดึงเฟืองเลื่อนคันชักแกนสปูลออก เท่านี้ก็จะแยกชิ้นส่วนภายในห้องเฟืองออกได้ทั้งหมด






       แยกชิ้นส่วนที่เป็นโลหะออกมา ล้างด้วยน้ำมันไฟแช็ค ใช้แปรงหรือพู่กันปัดคราบสารหล่อลื่นเดิมออกให้หมด





       นำชิ้นส่วนเหล่านั้นมาผึ่งแห้ง







       เอาชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติก ไปล้างด้วยน้ำยาล้างจาน ใช้แปรงสีฟันเก่า หรือพู่กันปัดคราบสารหล่อลื่นเดิมออกให้หมด





       เช็ดชิ้นส่วนเหล่านั้นเช็ดหมาดแล้วผึ่งแห้ง






       สารหล่อลื่นที่นำมาใช้ก็มีจารบี และน้ำมัน




       ใช้พู่กัน ป้ายจารบีลงในจุดที่มีการสัมผัสกันของชิ้นส่วน เช่นเฟืองต่างๆ ให้ระวังการทาจารบีปริมาณมากเกินความจำเป็น
       หลักการทาจารบีคือ ใช้พู่กัน ป้่ายจารบีเข้าตามร่องเฟือง แล้วปาดจารบีส่วนเกินออก


       หยอดน้ำมัน ลงในจุดสัมผัสที่ไร้แรงอัดเช่น แกนชักของสปูลกับรูแกนหมุนโรเตอร์
       เช่นเดียวกันกับจารบี คือ ให้หยอดน้ำมันแต่พอชุ่มพื้นผิวจุดสัมผัส อย่าให้แฉะจนเกินไป



    
       ส่วนหลักการประกอบรอก ให้ทำย้อนขั้นตอนการถอด หากสงสัยลำดับของชิ้นส่วน ให้ดูคู่มือแผนผังชิ้นส่วนที่แนบมา


       ในชุดแขนกว้านสายอย่าลืม ทำความสะอาดชุดล้อผ่านสาย และหล่อลื่นด้วยจารบีบางๆที่แกนในของล้อผ่านสายด้วย






       และท้ายสุด ในส่วนของสปูล ที่กลางสปูลจะมีห้องแดรก ให้งัดแหวนสปริงรูป 6 เหลี่ยมออก แล้วถอดแผ่นแดรกออกมาทำความสะอาด



       ทาจารบีบางๆที่แผ่นโลหะ และหยอดน้ำมันนิดหน่อยที่แผ่นอโลหะ ประกอบกลับเข้าห้องแดรก ขันมือบิดปรับแดรกเข้าให้พอตึงมือ เท่านี้ก็เสร็จสิ้นขั้นตอนการล้างรอก





       อนึ่ง รอกแต่ละรุ่น ต่างมีรายละเอียดปลีกย่อย จุดล็อค จุดหล่อลื่น แตกต่างกันไปตามแต่ผู้ออกแบบให้มีความซับซ้อนหรือเรียบง่าย เพื่อสมรรถนะของตัวรอกนั้นๆ ข้อสำคัญของการถอดล้างรอก ต้องจำไว้เสมอว่า อย่างัดหรืออย่าฝืนหากติดขัดในขั้นตอนใดๆ ที่ถอดไม่ได้หรือใส่ไม่เข้านั้น อาจเป็นเพราะเราข้ามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไป จึงทำให้เกิดการถอดไม่ออกเช่นนั้น